พืชใช้น้ำน้อยที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเรื่องข้อจำกัดของน้ำและสภาพอากาศที่อาจส่งผลทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดีนัก กลายเป็นอุปสรรคสำหรับเกษตรกรให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ตามความต้องการ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะมีพืชบางกลุ่มและบางชนิดที่เหมาะสำหรับการปลูกในช่วงเวลาดังกล่าว

พืชที่ใช้น้ำน้อยและเหมาะสำหรับการปลูกฤดูแล้ง จะเป็นพืชที่มีการใช้น้ำน้อยกว่า 300 – 800 มิลลิเมตรต่อไร่ต่อฤดูการผลิต เช่น พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ

พืชใช้น้ำน้อยเหมาะกับการปลูกในฤดูแล้ง

พืชที่เหมาะสำหรับการปลูกในช่วงฤดูแล้ง มีมากกว่า 39 ชนิด ตามคำแนะนำของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ โดยแบ่งออกเป็นพืชทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มพืชไร่จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วลิสง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2. กลุ่มพืชสมุนไพรจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ อัญชัน

3. กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองตัดดอก และอโกลมีนา

4. กลุ่มพืชผักจำนวน 31 ชนิด ได้แก่

  • พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดหัว กวางตุ้ง คะน้า
  • พืชตระกูลแตง เช่น บวบ มะระจีน ฟักทองญี่ปุ่น แตงโม แคนตาลูป เมลอน แตงไทย แตงกวา
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพู ชะอม ถั่วฝักยาว
  • พืชตระกูลมะเขือ เช่น พริก มะเขือ
  • พืชผักกินใบ เช่น โหระพา ผักชี กะเพรา ผักบุ้งจีนในตะกร้า กุยช่าย
  • พืชหัว เช่น มันเทศ หอมแดง
  • เห็ด เช่น การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า การเพาะเห็ดถุง การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย
  • พืชผักอื่น ๆ เช่น ตะไคร้ กระเจี๊ยบเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน ข้าวโพดฝักสด

ข้อควรระวังในการเลือกพืชใช้น้ำน้อยในการปลูกช่วงฤดูแล้ง

ถึงแม้จะมีพืชหลากหลายชนิดที่สามารถปลูกได้ในช่วงฤดูแล้ง แต่การที่จะลงทุนปลูกพืชชนิดใดก็แล้วแต่ ต้องมั่นใจว่า สามารถสร้างรายได้และทดแทนการปลูกพืชในช่วงภัยแล้งได้ดี โดยคำนึงถึงปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. เป็นพืชสร้างรายได้

ก่อนทำการปลูกพืชชนิดใดก็แล้วแต่ ให้ทำการศึกษาว่า มีตลาดรองรับพืชชนิดนั้นหรือไม่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างรายได้ที่มั่นคง

2. เหมาะกับสภาพพื้นที่

นอกจากความต้องการของตลาดแล้ว สภาพพื้นที่ในการปลูกพืชก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้นจึงควรทำการศึกษาและพิจารณาด้วยว่า สภาพดินเป็นอย่างไร และต้องบำรุงดินหรือเพิ่มธาตุอาหารใดให้แก่พืชที่กำลังจะปลูกบ้าง

3. ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร

ปัจจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรด้านการผลิตการตลาดและสินเชื่อ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำการเกษตร ถึงแม้ภัยแล้งเป็นปัญหาหลักที่ต้องเจอ แต่หากปล่อยให้กลายเป็นอุปสรรคก็จะสร้างความยากลำบากให้แก่เกษตรกรไม่มากก็น้อย ดังนั้นการมองหาทางเลือกอื่นที่ตอบโจทย์มากกว่าก็จะช่วยทำให้บรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้าง ซึ่งพืชที่สามารถปลูกได้ก็มีหลากหลายชนิดให้ได้เลือก ยิ่งมีการศึกษาตลาดและวางแผนบริหารจัดการด้วยแล้ว ฤดูแล้งปีนี้หรือปีหน้าก็ไม่ใช่ปัญหาอย่างแน่นอน